คุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการ
1.ขยัน คือ ความตั้งใจเพียรพยายามทำหน้าที่การงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ อดทน ความขยันต้องปฏิบัติควบคู่กับการใช้สติปัญญา แก้ปัญหาจนเกิดผลสำเร็จ
2.ประหยัด คือ การรู้จักเก็บออม ถนอมใช้ทรัพย์สิน สิ่งของแต่พอควรพอประมาณ ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ
3.ซื่อสัตย์ คือ ประพฤติตรงไม่เอนเอียงไม่มีเล่ห์เหลี่ยมมีความจริงใจ ปลอดจากความรู้สึกลำเอียงหรืออคติ
4.มีวินัย คือ การยึดมั่นในระเบียบแบบแผน ข้อบังคับและข้อปฏิบัติ ซึ่งมีทั้งวินัยในตนเองและวินัยต่อสังคม
5.สุภาพ คือ เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อม มีกิริยามารยาทที่ดีงาม มีสัมมาคารวะ
6.สะอาด คือ ปราศจากความมัวหมองทั้งกาย ใจ และสภาพแวดล้อม ความผ่องใสเป็นที่เจริญตาทำให้เกิดความสบายใจแก่ผู้พบเห็น
7.สามัคคี คือ ความพร้อมเพียงกัน ความกลมเกลียวกัน ความปรองดองกัน ร่วมใจกันปฏิบัติงานให้บรรลุ ผลตามที่ต้องการเกิดงานการอย่างสร้างสรรค์ปราศจากการทะเลาะวิวาท ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน เป็นการยอมรับความมีเหตุผล ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความหลากหลายในเรื่องเชื้อชาติ ความกลมเกลียวกันในลักษณะเช่นนี้ เรียกอีกอย่างว่า ความสมานฉันท์
8.มีน้ำใจ คือ ความจริงใจที่ไม่เห็นแก่เพียงตัวเองหรือเรื่องของตัวเอง แต่เห็นอกเห็นใจเห็นคุณค่าในเพื่อน มนุษย์ มีความเอื้ออาทรเอาใจใส่ ให้ความสนใจในความต้องการ ความจำเป็น ความทุกข์สุขของผู้อื่น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน
จริยธรรม คือ หลักการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี
จริยธรรม มาจากคำ 2 คำคือ- จริย หมายถึง ความประพฤติ- ธรรม มีความหมายหลายอย่าง เช่น ความดี หลักคำสอนทางศาสนา หลักปฏิบัติดังนั้น เมื่อคำทั้งสองมารวมกัน จริยธรรม ก็หมายถึง หลักความประพฤติหรือแนวทางแบบอย่างของความประพฤติ
จริยธรรมของบุคคลหนึ่ง จึงอาจมีพื้นฐานมาจากธรรมชาติ เพราะมนุษย์ทุกคนมีพันธะหน้าที่ต่อธรรมชาติ และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เช่น จะต้องรักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไว้ให้สมดุล ไม่ลักขโมย และทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้ความรักตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะเห็นว่า มนุษย์ควรมีจริยธรรมทั้งต่อธรรมชาติ อันได้แก่ พืช สัตว์ ทรัพยากรต่าง ๆ ซึ่งถ้ามนุษย์มีการประพฤติปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ทำลายพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรโดยคำนึงถึงความยั่งยืนแล้ว ย่อมส่งผลดีต่อการดำรงชีวิตใน ทุกด้านทุกวันนี้ เราใช้ทรัพยากรกันโดยไม่ประหยัด ขณะเดียวกันเราก็ทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์อย่างมาก เช่น มลภาวะที่เกิดจากน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ อากาศเปลี่ยนแปลง ปรากฎความแห้งแล้งอย่างไม่เคยมีมาก่อน หรือบางภูมิภาคก็เกิดอุทกภัย เกิดแผ่นดินไหว ปรากฎการณ์ธรรมชาติเหล่านี้ ต้องยอมรับว่า ส่วนหนี่งเป็นเพราะมนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้นดังนั้น ถ้ามนุษย์มีจริยธรรมในการประพฤติปฏิบัติต่อธรรมชาติอย่างเหมาะสม ก็อาจลดปัญหาของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เผชิญอยู่ในปัจจุบันได้